California-Look Part 4
มาว่ากันต่อถึงเรื่องตัวถังกันบ้าง ปีไหนเหมาะสมที่สุดที่จะนำมาแต่งในแนวนี้..
ถ้า เพื่อนๆสมาชิก ที่ซีเรียสหน่อย กล่าวคือ ต้องการแต่ง Cal Look แบบดั้งเดิม (Classic California Lookหรือ Tradtional California Look) คงต้องหารถรุ่นก่อน68 แหล่ะครับ..
พยายามหาปี 67 หรือเก่ากว่าได้ยิ่งดี เพราะรูปทรงตัวถัง และอุปกรณ์ต่างๆ เข้ากับยุคสมัยนั้น ได้เป็นอย่างดี..
รถรุ่นใหม่ไปกว่านั้นก็พอได้ครับ แหม..แต่พอลงเงินไปมากพอ ๆ กันแล้ว มันสวยคลาสสิคสู้รุ่นก่อน ๆ ไม่ได้นะซิครับ..
กฏที่สำคัญของ Cal Look สำหรับตัวถังก็คือ อุปกรณ์น้อยเท่าไหร่เป็นดีเท่านั้น อย่าไปใส่อุปกรณ์ต่างๆให้มันมากเกินความจำเป็น..
จะเห็นได้จากหลายๆคัน จะเลาะเอาคิ้วโครเมี่ยมออกจนหมด ทั้งเก้าเส้น ตัวนี้ไม่ซีเรียสนะครับ จะมีหรือไม่มีก็ได้ ยังพอยอมรับได้..
กันชนจะถอดหรือไม่ถอดก็ได้ ไม่ว่ากัน และไม่ได้มีข้อกำหนดด้วยว่า ถ้าท่านถอดคิ้วออกแล้วจะต้องถอดกันชนออก หรือมีคิ้วแล้วจะถอดกันชนไม่ได้ ตรงนี้ไม่ซีเรียสครับ ที่ถอดออกเพราะต้องการลดน้ำหนักและให้ดูเหมือนรถแข่งเท่านั้น..
แต่ถ้าถอดเอากันชนออกแล้ว ที่ต้องมีคือ ทีบาร์ หรือ บักกี้บาร์ก็ได้ครับ อันนี้เป็นกฏหมายของแคลิฟอร์เนียครับ ควรใส่ครับ แต่ก็อีกนั่นแหล่ะ ดูจากรูปเก่าๆก่อนปี 1970 ก็ไม่ได้ใส่กัน เพราะในสมัยนั้น ยังไม่มีกฏหมายรับรองไอ้เจ้าทีบาร์ที่ว่านี้ พลพรรค Old school รุ่นแรกก็เล่นเอาล่อเอาเถิดกับตำรวจอยู่พอสมควรเวลาไม่ใส่กันชน หลังจากนั้นมีกฏหมายรองรับแล้ว ก็ได้เฮกัน เลยนิยมใส่กัน เป็นแบบอย่างจนถึงปัจจุบัน..
แต่อุปกรณ์ประดับยนต์ที่ติดตามตัวถังต่างๆ ที่ดูแล้วเกะกะลูกตา เช่น แก็ปไฟหน้า แก็ปกระจกบังลม กันหินหน้าหลัง สปอตไลท์ แร็คบรรทุกสัมภารกทั้งหลายทั้งปวง เสากะระยะ (แหม..อันนี้รับไม่ได้จริง ๆ ดูแล้วหมือน มือใหม่หัดขับยังงัยก็ไม่รู้) และอื่นๆอีกมากมายที่ชอบประเคนใส่กันเข้าไป ..Cal look เค้าไม่ใส่กันครับ เค้าเตรียมรถไปซิ่ง ไม่ได้เอาไปอวดของประดับยนต์ที่เพิ่งซื้อมาเมื่อวันก่อน หรือเอาไปขนของ
อุปกรณ์ มาตรฐานอื่นๆ พวกฝากระโปรง หน้า หลัง ต้องตรงรุ่นนะครับ (ฝาหลังอนุโลมให้เอาของรุ่นเปิดประทุนมาใส่ได้ เพื่อช่วยระบายความร้อน) ไฟท้าย มือเปิด อะไรต่อมิอะไรพวกนี้ ขอให้ตรงรุ่นครับ อย่าไปข้ามปี มันไม่งาม..
อีกทีก็ถอดออกไปเลยก็ได้ คือพวกไฟเลี้ยวหน้า ให้ถอดออกได้ ใส่ไฟเลี้ยว แบบกลมเล็กของลูคัส แทนที่ตรงตำแหน่งรูแตร ใกล้ไฟใหญ่ หรือใช้ดวงไฟหรี่แปลงขั้วเป็นหลอดสองใส้แทน ทำงานเป็นไฟหรี่ กับ ไฟเลี้ยวทั้งสองอย่าง ก็ได้ครับ..
พวกคิ้วต่างๆตามขอบกระจก ที่เป็นโครม ถ้าต้องการให้ดิบเถื่อนแบบ Cal Look รุ่นแรก ๆ จะถอดออกก็ได้ แต่ถ้าไม่ถอดออกก็ไม่ผิดครับ แล้วแต่ความชอบ..
กระจกมองข้างก็เหมือนกันครับ ถ้าไม่ชอบของเดิม ก็เอาออกซะ ไปหาทรงสปอร์ทแบบรถแข่งย้อนยุคมาใส่ เป็นอลูมิเนียมทรงลู่ลมของ Talbot มาใส่เป็นอันจบ แต่ถ้าเป็นรถรุ่นหลังนิยมหายี่ห้อ Vitaloni รุ่น Baby Turbo หรือรุ่น Tornado มาใส่กัน..
สำหรับกระจกวันพีซนั้น ถ้าเป็นนักเลง Cal Look ขนานแท้ดั้งเดิม( Old School Cal Looker) นั้นมักจะใส่ครับ แต่ต้องหาชุดคิทที่คุณภาพดีๆหน่อย พวกรางกระจก สักหลาด ยางรีดน้ำฝน บางยี่ห้อห่วยแตก รางไม่แข็งแรง กระจกหล่น ยางรีดน้ำไม่ดี พาลจะกลุ้มใจเสียเปล่าๆ อย่าลืมถอดกันเลยประตูนะครับ เดี๋ยวกระจกแตกเวลาปิดประตู หากันเลยเป็นลวดสลิงมาใส่ด้วย ตัวละไม่กี่ตังค์..
ทีนี้มาถึงเรื่องสีตัวถังครับ แน่นอนครับ ต้องสีเดียวตลอดคัน ห้ามมีลวดลาย ประเภท เปลวเพลิง ลายสแคลล็อพ (หอยเชลล์) หรือทูโทนเหมือนอย่างช่วงทศวรรษ 80 นิยมกันแบบผิดๆ..
ในสมัยเริ่มแรก นิยมสีแดงอินเดีย (India Red) และสีขาวตามแบบคันที่ Greg Aronson ตกแต่งไว้ .. ต่อมาเริ่มมีรถแต่งแนวนี้ ทำสีออกมาหลากหลายขึ้น สีเหลืองสด สีน้ำตาล สีดำ สีเขียวและสีอื่น ๆ..
แต่ที่แน่ๆที่ยอมรับกันได้ในภายหลังคือ สีเดิมๆที่ออกมาจากโรงงานครับ พวกสีออกแนวหวาน พยายามหลีกเลี่ยงนะครับ พวกสีนมเย็น หรือสีแปลกๆ พวกสีม่วง สีชมพูอะไรพวกนี้แหล่ะครับ เดี๋ยวจะกลายเป็น Look อื่นไปซะ..
พวก เนื้อสีเมทัลลิคใช้ได้ครับ แต่ให้ดูสีเรียบๆ อย่าให้หวือหวา พวกสีเมทัลลิคเกล็ดใหญ่( Metalflake) แบบรถอเมริกันมัซเซิลคาร์( Muscle Car) อย่าไปทำครับ เอาไว้ทำรถแดร็กวิ่งในสนามอย่างเดียว อันนั้นเค้าต้องการโชว์ครับ อย่าทำมาวิ่งในท้องถนน ..
แนว ความคิดของการแต่ง Cal Look นี้ต้องการแสดงออกถึงความเรียบ ง่าย ไม่สดุดตา ไม่โอ้อวด ซ่อนความรู้สึกไว้ (Sleepers) เอาไว้แสดงอานุภาพกันที่ความเร็วอย่างเดียวครับ...
ดูแล้วน่ารักนะครับ พวกพูดน้อยต่อยหนักเนี่ย ..
หมดแล้วครับสำหรับภายนอก เที่ยวหน้า จะเริ่มเจาะภายในกันครับ วันนี้พอแค่นี้ก่อนครับ..
----------------------------------------------------------------------------------------------------------
Part 1 | Part 2 | Part 3 | Part 4 | Part 5 | Part 6 | Part 7 | Part 8 | Part 9
----------------------------------------------------------------------------------------------------------