หลาย ๆ คนที่ได้ตู้มาครอบครอง หรือกำลังจะได้มา มักจะมีคำถามว่าตู้ของเรารุ่นอะไร ปีอะไร และหลาย ๆ คำถามก็เจอกันอยู่เรื่อย ทั้งในเวปบอร์ดรถโฟล์คของไทย หรือต่างประเทศ     จากที่ผมได้กล่าวถึงตู้เล็กน้อยใน Intro to Bus ในหน้า Knowledge ก็จะมาขยายความเพิ่มอีกในเรื่อง Plate ของตู้

          ถ้าสังเกตุดี ๆ รถตู้โฟล์คทุกคัน จะมีแผ่นป้ายเล็ก ๆ ติดอยู่ในรถ อย่างน้อง 1 แผ่น ในรุ่นเก่า ๆ หรือ 2 แผ่นในรุ่นใหม่ ๆ ... เจ้าแผ่นเพลทเล็ก ๆ นี้จะบอกข้อมูล รายละเอียดเกี่ยวกับรถของเราได้มากมาย เช่นสีตอนออกจากโรงงาน สีเดิมว่างั้นเถอะ อุปกรณ์พิเศษต่าง ๆ ปีที่ผลิต ประเภทของรถ และอื่น ๆ อีกมากมาย

          เพลทที่ว่านี้ ไม่ได้บอกกับเราตรง ๆ นะ มันจะอยู่ในรูปของรหัส ซึ่งคนคิดระบบนี้ขึ้นมา เหมือนไม่ต้องการให้เรารู้ อยากรู้ต้องไปหาข้อมูลถอดรหัสกันเอาเอง ไม่ให้รู้กันง่าย ๆ ... ผมถึงว่าการแกะรหัสเป็นเรื่องสนุก... เมื่อรู้แล้วก็มีความสุข (หรือบางคนอาจจะเศร้า) ว่าแต่คนคิดระบบเพลทมันคงบอกเราว่า เออ เอ็งเก่ง!...

          ขอเกริ่นถึงประวัติของตู้กันหน่อย เริ่มเดือนแรกที่โฟล์คผลิตตู้ออกมาจำหน่าย (8 มีนาคม ปี 1950) จะมีเพลทอันหนึ่งซึ่งเรียกว่า VIN-Plate มันจะอยู่ด้านหลังของเครื่อง หรืออยู่หลังยางอะหลั่ย ตู้รุ่นแรก ๆ ยางอะหลั่ยจะอยู่ด้านหลัง เพลทนี้จะอยู่ตรงกลางพอดี (ผมค่อนข้างมั่นใจว่าบ้านเรา ไม่มีตู้ปีนั้นแน่นอน :-) ต่อมาในเดือนตุลาคม ปี 1950 ยางอะหลั่ย ได้ถูกย้ายมาวางตั้งตรง อยู่ด้านข้างเครื่องแทน เจ้า VIN-Plate นี้ก็ได้ถูกระเห็ดไปอยู่มุมขวาของเครื่องแทน

          การเปลี่ยนแปลงอีกครั้งของระบบเพลท เกิดขึ้นตอนเดือนตุลาคม ปี 1958 ซึ่งจะมีเพลทเกิดขึ้นมาอีกอัน คือเจ้า M-Plate ผู้เป็นตัวไขความลับของตู้อย่างแท้จริง M-Plate นี้จะบอก เดือน ปี เกิตของรถตู้ ชนิด สี และอื่น ๆ อีกมาก ที่จะเล่าให้ฟังในส่วนต่อไป :-)

          ต่อมามีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อเกิดขึ้นในเดือนสิงหาคม ปี 1967 (เปลี่ยนจากหน้าวีเป็นแตงโม T1-T2) โดย VIN-Plate จะย้ายจากช่องลมด้านบน มาอยู่หลังเบาะคนขับ และ M-Plate จะย้ายไปอยู่หลังเบาะคนนั่งด้านซ้ายแทน แต่การถอดรหัสยังมีความคล้ายกันอยู่ ซึ่งจะเปลี่ยนรูปแบบ การถอดข้อมูลครั้งใหญ่ในเดือนสิงหาคม ปี 1979 ก็คือการมาของ Transporter หรือ T3

ผมจะสรุปตำแหน่งของเพลทต่าง ๆ ที่อยู่ในตู้ดังนี้นะครับ


เริ่มจาก VIN-Plate กันก่อน

          VIN-Plate (Vehicle Identity Number) ส่วนใหญ่ในอเมริกาจะเรียกแบบนี้ หรือบางที่ก็เรียกว่า ID-Plate เจ้าเพลทนี้มีติดตัวมากับรถตู้ทุกคัน ในปีเก่า ๆ ก็จะมีตำแหน่งในการติดที่แตกต่างกันออกไป ผมขอเรียกเป็น T แล้วกันนะครับ T1 ก็คือ BARNDOOR กับ หน้าวีที่เราเรียกกัน T2 ก็คือแตงโม T3 ก็คือ Transporter หรือ Vanagon ที่เรียกในอเมริกา ความสำคัญที่สุดของ VIN-Plate มี 2 อย่างคือ ประเภทของตู้ กับ Chassis Number ซึ่งผมทำตารางแยกไว้ต่างหาก สำหรับเทียบรุ่นปี Bus Type & Chassis Number

อย่างไรก็ตาม เราต้องหา VIN-Plate ให้เจอก่อน โดยเจ้า VIN-Plate จะอยู่ในบริเวณที่ผมสรุปให้ดังนี้

          T1 ตั้งแต่ปี ตุลาคม 1950 - กรกฏาคม 1963 (Model year 1963) VIN-Plate จะอยู่ด้านหลัง เยื้องมาทางขวาของเครื่อง ตอนแรกป้ายจะใหญ่ พอจนถึงปี 1956 ป้ายจะเล็กลง ซึ่งจะไม่มีเลขเครื่องบอกใน VIN Plate อีกต่อไป

          ในรูปที่ศรชี้ด้านซ้ายสุดคือป้ายบอกว่า ทำในเยอรมันตะวันตกนะครับ หายากมากขอบอก เพราะประเทศนี้ไม่มีแล้ว ป้ายนี้จะใช้ตอนปี 1955 จนมกราคม ปี 1962 ก็เลิกใช้ไป ด้านบนขวาตามศรก็คือ VIN-Plate และด้านล่างคือเลข body number ครับ รุ่นเก่า ๆ จะมีเลขนี้ด้วย (ไม่ใช่ Chassis Number นะครับ)


T1 ตั้งแต่ปี สิงหาคม 1963 - กรกฏาคม 1967 (Model year 1964 - 1967) VIN-Plate จะอยู่ตรงด้านขวาของช่องลม




T2 ตั้งแต่ปี สิงหาคม 1967 - กรกฏาคม 1979 (Model year 1968 - 1979) VIN-Plate จะอยู่ตรงด้านหลังเบาะคนขับ (พวงมาลัยซ้าย จะอยู่ด้านหลังเบาะคนนั่ง)




T3 ตั้งแต่ปี สิงหาคม 1979 (Model year 1980 - 1992) VIN-Plate จะอยู่ตรงด้านล่าง ขวามือ ใกล้ ๆ ประตูคนขับ


มาดูกันว่า M-Plate อยู่ที่ไหนกันบ้าง

          M-Plate จะเป็นตัวไขความลับมากมายเกี่ยวกับตู้ ... M เป็นภาษาเยอรมัน ย่อมาจากคำว่า Mehrausstattung แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า option & extra option หรือเป็นไทยก็ อุปกรณ์มาตรฐานและอุปกรณ์พิเศษ ข้อมูลของเจ้า M-Plate นี้มีเยอะมาก ๆ ซึ่งจะติดตามได้ใน update ครั้งหน้าฮะ :-) คราวนี้มาดูกันก่อนว่า M-Plate อยู่ที่ไหนกันบ้าง


T1 ตั้งแต่ปี ตุลาคม 1958 - กรกฏาคม 1967 (Model year 1958 - 1967) M-Plate จะอยู่ตรงด้านหลังของเบาะคนขับ (พวงมาลัยซ้าย จะอยู่ด้านหลังเบาะคนนั่ง)



          T2 ตั้งแต่ปี สิงหาคม 1967 - กรกฏาคม 1976 (Model year 1968 - 1976) M-Plate จะอยู่ตรงด้านหลังของเบาะคนนั่ง (พวงมาลัยซ้าย จะอยู่ด้านหลังเบาะคนนั่ง)
ส่วนปี 77 - 79 M-Plate จะอยู่ด้านล่างของ Dash board จะแปะติดกับช่องลมด้านซ้าย ซึ่งจะหายากหน่อย และอ่านยากด้วย ควรใช้ดินสอลอกลายลงบนกระดาษเอา 


T3 ก็มี M-Plate นะ ซึ่งจะอยู่ด้านใต้เบาะคนนั่ง ต้องเอาเบาะออก แล้วเปิดฝาจากทางด้านหลัง จะเห็น M-Plate อยู่ข้างในนั้น ...ลึกลับจริง ๆ


ความหมายของ VIN-Plate

          เมื่อทราบตำแหน่งกันแล้ว ก็มาดูความหมายของ VIN-Plate กัน ... รูปที่นำมาประกอบทั้งหมดผมก็วาดขึ้นมาเองจากโปรแกรมเขียนภาพ เพราะถ้าเอารูปจริงลง คงเห็นได้แค่ลาง ๆ ตัวหนังสือคงไม่ชัดเท่าไหร่นัก เลยวาดเอาดีกว่า คิดว่าใกล้เคียงที่สุดแล้ว ทั้ง FONT และ สัดส่วน :-)

เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน ผมขออธิบายคำที่อยู่ในเพลททั้งหมดก่อน

- Typ =Type แปลเป็นไทยก็ "ประเภท" (ดูอ้างอิงจากประเภทของรถตู้)
- Zul Gesamgewicht kg = Maximum Gross Weight ก็คือน้ำหนักรถนั่งเอง เพลทรุ่นใหม่จะเขียนว่า Zul Gesamgew ก็แปลเหมือนกัน
- Zul Achslast vorn kg = Maximum Front Axle Weight คือน้ำหนักที่บรรทุกได้ส่วนหน้า
- Zul Achslast hinten kg = Maximum Rear Axle Weight น้ำหนักที่บรรทุกได้ส่วนหลัง
- Fahrgestell-Nr. = VIN Number เลขตัวถัง
- Baujahr = Build Year แต่ข้อมูลจากแหล่งอ้างอิง ทำให้รู้ว่า "ปีผลิต" นั้นโฟล์คสวาเกนไม่เคยลงอีกเลยหลังจากปี 1954
Heizg เป็นคำย่อจากคำว่า Heizung = Heater
Prufz ย่อจากคำว่า Prufzeichen แปลว่าผ่านการตรวจสอบ
~~~ ตัวย่อของ MOT (Ministry of Transportation) หรือกระทรวงคมนาคมนั่นเอง
"Heizg. Typ 2/255 A Prufz ~~~ S45" มีความหมายว่า ระบบปรับอากาศร้อนชนิด 2/255 ได้รับรองจากกระทรวงคมนาคมตามใบรับรองเลขที่ S
45 (ยาวอิ้บอ๋าย)

          เลข Chassis จะเริ่มจาก 000014 ไปจนหลายล้านตามจำนวนการผลิตของรถตู้ ตั้งแต่ T1 - T3 ผมว่าประมาณ 5 ล้านคันได้แล้วนะ ใครอยากรู้ว่ารถปีอะไรก็สามารถรู้ได้จากเลข Chassis ตามตารางนี้



เพลทแบบนี้จะเป็นแบบแรกที่อยู่ในตู้ปี 1950 - 1955 ** ข้อมูลตัวหนังสืออาจมีผิดพลาด **



รุ่นต่อมาของ VIN-Plate อยู่ในช่วงปี 1955 - 1963
Typ = ประเภท VW2/21 = รถตู้ทึบ (ดูอ้างอิงจากประเภทของรถตู้)



รุ่นต่อมาของ VIN-Plate อยู่ในช่วงปี 1964 - 1967
Typ = ประเภท VW22 = รถตู้ Standard (ดูอ้างอิงจากประเภทของรถตู้)




รุ่นต่อมาของ VIN-Plate อยู่ในช่วงปี 1968 - 1979
Typ 26 รถตู้กระบะ (ดูอ้างอิงจากประเภทของรถตู้)




รุ่นต่อมาของ VIN-Plate อยู่ในช่วงปี 1980 - 1991 (ดูอ้างอิงจากการอ่านเลข T3) **ยังไม่เสร็จ**


การอ่านเลขใน VIN-Plate

ผมขอรวมการอ่านของ T1-T2 ระหว่างช่วงปี 1967 - 1979 เลย เพราะการอ่านจะเหมือนกันมาก





ขอจัดกลุ่มตัวเลขไว้ 2 กลุ่ม

กลุ่ม A
(26-16)
กลุ่ม B
(267030725)



กลุ่ม A


          เลข 26 จะเปลี่ยนไปตาม Typ ของตู้คันนั้น ๆ ที่เอามาเป็นตัวอย่างคือของดับเบิ้ลแคป ถ้าเป็นตู้ธรรมดาก็จะเป็น 21(ตู้ทึบ), 22(ตู้ Standard), 23(ตู้คอมบิ), 24(ตู้เดอลุกซ์), 26(ดับเบิ้ลแคป), 27(ตู้พยาบาล), 28(ตู้หลังคาสูง ตู้ดับเพลิง ตู้โปรโตไทป์)


กลุ่ม B


          เลขแชสซีจะขึ้นด้วยประเภทของตู้เหมือนข้างบน (ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะลงมาให้ซ้ำ ๆ กันไปทามม้าย :-)) 26 ก็คือดับเบิ้ลแคป 7 ก็คือ Model year ปี 1967 (ระบบโมเดลเยียร์นี้จะเริ่มตอนปี 1965) เลขตัวที่ 3 นี้จะเปลี่ยนไปตามปี เช่น ปี 1968 ก็จะเป็นเลข 8 ปี 1970 ก็จะเป็นเลข 0 ปี 1977 ก็จะเป็นเลข 7 ซึ่งเลข 7 จะตรงกับปี 1967 เหมือนกัน แต่ก็สามารถบอกได้ว่าเป็นปีอะไรก็ตรงที่มันเป็นตู้คนละ Generation :-) ... 030725 เป็น running number เลขนี้จะไล่ตามลำดับการผลิตจากโรงงาน

----------------------------------------------------------------------------------

ตัวอย่างที่ 2


คันนี้ก็คือ Typ22 หรือรถตู้ Standard เป็น Model Year ปี 1967 (ปีสุดท้ายของ T1) เลข running number คือ 071177

หวังว่าคงเข้าใจนะครับ :-) ถ้าไม่เข้าใจก็เมลล์มาถามกันได้ที่ This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
* ขอขอบคุณ MR.Vincent Moleenar แห่ง www.type2.com ที่ให้ความกระจ่างเรื่อง TYPE มาด้วยครับ เพื่อน ๆ สามารถชม web site ของแกได้ที่ www.type2.com


ความหมายของ M-Plate

          มาเข้าเรื่องที่มีข้อมูลเยอะที่สุดกันนะครับ ผมขอเขียนอธิบายเป็น T แล้วกัน เพื่อความไม่สับสนเพราะ M-Plate แต่ละรุ่น แปลความหมายแตกต่างกัน แต่ T1 กับ T2 จะมีความคล้ายกันมาก โดยจะเริ่มอธิบายจาก T1 ก่อน





ขอจัดกลุ่มตัวเลขไว้ 6 กลุ่ม ดังนี้

แถวที่ 1
แถวที่ 2
แถวที่ 3
 
กลุ่ม C
(21 9)
กลุ่ม D
(010 106 156 195 207 240)
กลุ่ม E
(TH)
กลุ่ม F
(2682)
กลุ่ม G
(526208)
กลุ่ม H
(7030725)




กลุ่ม C

          เลข 21 9 จะเปลี่ยนไปตามเดือนที่ผลิตของตู้ ... 21 ก็คือวันที่ 21 ... ส่วน9 ก็คือ เดือนกันยายน เนื่องจากทางโรงงานจะพิมพ์แค่เลขตัวเดียวสำหรับเดือนผลิต เลข 1 - 9 ก็คือเดือน มกราคม ไปจนถึงเดือนกันยายน และ O, N, D ก็จะหมายถึง ตุลาคม, พฤษจิกายน, และธันวาคม ตามลำดับ

          การไล่วันผลิตแบบนี้จะใช้ตั้งแต่ปี 1964 ซึ่งจะสังเกตุได้ว่า ปีที่ผลิตจะหายไป ซึ่งปีที่ผลิตจะไปอยู่ในส่วนเลขแชสซีแทน ... ส่วนในตอนปี 1958 จนถึงปี 1963 การไล่เลขใน M-Plate จะมีวัน เดือน และปีกำกับไว้ชัดเจน



กลุ่ม D

          สังเกตุว่าเลขตรงนี้จะจัดเป็นกลุ่มไว้ กลุ่มละ 3 ตัว ในแต่ละกลุ่มก็มีความหมายต่างกัน ตัวเลขเหล่านี้จะเป็นตัวเลขที่บอกถึง อุปกรณ์พิเศษต่าง ๆ และอุปกรณ์มาตรฐานจากโรงงาน ใครอยากรู้ว่ารถตู้คันนี้เป็น Double door แท้ ๆ หรือ21, 23 หน้าต่างแท้ ๆ ก็สามารถดูได้ตรงนี้ฮะ :-)ตาราง M-Plate


กลุ่ม E

 
          เยอรมันได้ส่งตู้ไปขายทั่วโลก แต่ละสถานที่ ที่ตู้จะถูกส่งไปจะมีกำกับไว้อย่างชัดเจน เช่น TH ก็จะหมายถึงประเทศไทย และตัวย่ออีกหลาย ๆ ที่สามารถดูได้จากตารางนี้ ตาราง Export Destination


กลุ่ม F


          ขอแบ่งเลขในกลุ่ม F ไว้ 2 กลุ่ม คือ 268 กับ 2 ... เจ้า 268 นี้หมายถึง Double cab พวงมาลัยขวา ประตู cab อยู่ด้านซ้าย และเลข 2 หมายถึง paint finish หรือการเคลือบสี ในที่นี้ 2 หมายถึง Nitro Lacqure สามารถดูขยายเพิ่มเติมได้ที่ตารางนี้ ตาราง Model - Paint Finish



กลุ่ม G


          จะแบ่งการอ่านสีได้ดังนี้ 56 คือสีด้านบน 62คือสีด้านล่าง (อาจจะมีการสลับด้านบน-ล่าง) และ 08 คือสีภายใน สามารถดูได้จากตารางนี้ ตาราง Color Code



กลุ่ม H


          เลขแชสซีที่จะบอกปีที่ผลิตอยู่ด้านหน้าเสมอสำหรับตู้ที่ผลิตในปี 1964 - 1967 ในเพลทนี้ขึ้นต้นด้วย 7 ก็หมายความว่า ผลิตปี 1967 และเลข 030725 ก็คือ running number สามารถดูตารางของ VIN ได้ตามนี้ ตาราง Chassis Number

-------------------------------------------------------------------


ตัวอย่าง 3


จากเลข 09 D หมายความว่ารถคันนี้ผลิตวันที่ 9 เดือน ธันวาคม ปี 1967 (รู้ได้จากเลขแชสซีที่ขึ้นด้วย 7)


          เลขบรรทัดต่อมา 382 คือ North American Equipment (อาจหมายถึงที่กันฝุ่นเข้าด้านหน้า) 090 คือ กระจกนิรภัย 114 คือ กระจกในห้องผู้โดยสารเปิดได้ 6 บาน และ 240 คือ เครื่องที่ใช้ลูกสูบแบบโค้ง กำลังอัดต่ำ ซึ่งถูกปรับมาให้ใช้กับน้ำมันที่มีค่าอ๊อกเทนต่ำ รหัสเครื่องจะเป็น รหัส"L" (ซึ่งในบ้านเราใช้รหัสนี้กันที่หมด)

          บรรทัดสุดท้าย TH หมายถึงรถตู้ที่ถูกส่งมาที่ประเทศไทย 224 คือรถตู้แบบ Standard 9 นั่ง พวงมาลัยขวา ประตูห้องโดยสารอยู่ด้านซ้าย เลข 2 ต่อมาคือ การเคลือบสีแบบ Nitro-Lacquer finish ต่อมา 12 คือสีด้านล่างเป็นสีน้ำเงิน Sea blue รหัสตามเบอร์สียี่ห้อนกแก้วคือ L360 เลข 18 คือสีด้านบน ก็คือสีขาว Cumulus Whit รหัสนกแก้ว L680 และเลข 83 คือสีภายในสีเทา Mesh Grey สุดท้ายเลข 7071177 คือเลขแชสซี ที่เลขด้านหน้าคือปีที่ผลิตดังที่กล่าวไว้ข้างต้น