California-Look Part 9
สวัสดีครับ เพื่อน ๆ สมาชิกโฟล์คทุกท่าน ตอนนี้ตอนที่เก้าแล้ว ตอนนี้เราจะมาว่ากันถึงเรื่อง การโมดิฟายเครื่องแอร์คูล ในสเต็ปแรกกัน แบบแรงและทน
ที่จริงแล้วเราเคยคุยกันในเว็บบอร์ดกันหลายกระทู้แล้วครับเรื่องเครื่องเนี่ย ..
แต่วันนี้จะมาสรุปกันคร่าวๆว่า ควรจะลงไม้ลงมืออะไรกับเครื่องบ้าง
สำหรับใครก็ตามที่อยากจะให้เต่าน้อยของเรา มีเรี่ยวแรงเพิ่มเติมจากเดิมขึ้นมาบ้าง ไม่ต้องถึงขนาด เอาไปแข่งนะครับ เอาแค่วิ่งปรู้ดปร้าด ไล่ตามคนอื่นเค้าทันบ้าง ดีไม่ดี เซ็ทเครื่อง ช่วงล่าง และเกียร์ได้ดี ๆ รถสมัยใหม่มีงงได้เหมือนกันนะครับ..
เริ่มต้นกันที่พื้นฐานเครื่องกันก่อน สมัยนี้ก็ต้องว่ากันที่เสื้อสตัดเล็ก สองโปโล ถึงจะเจ๋ง ก็พวก เอเอส เอเจ อะไรทำนองนี้แหละครับ..
แต่ว่าไปแล้ว ถ้าไม่ได้ต้องการความแรงมากมายนัก เสื้อเครื่องพันสาม สตัดใหญ่ โปโลเดี่ยว พวกรหัส เอฟ ก็ใช้ได้นะครับ ทำสักพันหกก็พอครับ อย่าให้มันมากไปกว่านั้น เสื้อเครื่องรุ่นนี้รับมือได้สบายมากครับ..
ส่วนพวกเครื่องพันสอง พันร้อย ฐานตึก เอามาประกอบให้ครบ ๆ แล้วตั้งโชว์ไว้ในห้องนั่งเล่นดีกว่าครับ อย่าเอามาทำใช้เลย ทำไปทำมา เดี๋ยวมันจะแพงกว่าเครื่องสองพันเสียอีก.. ดูสภาพเสื้อให้ดี ๆ นะครับ อย่าให้มีรอยร้าว ถ้าเคยสวมเมนเหล็กมา ถอยให้ห่าง ๆ ครับ เดี๋ยวทำแล้วจะปวดหัวต่อ ขอให้สภาพดี ๆ หน่อยครับ ..
ได้เสื้อเครื่องมาแล้ว ให้ตรวจเมนก่อนครับ ไซส์เท่าไหร่ ถ้าสวมชาร์ฟแล้วไม่สนิท ขยับได้ ก็เอาเสื้อเครื่องไปยิงเมนใหม่ซะ เป็นโอเวอร์ไซส์..
เรื่องต่อมาก็คือ ข้อเหวี่ยง เดิมๆ ขนาด 69 มม.ก็ต้องตรวจสภาพอีกเหมือนกันครับ ถ้ามีรอยเส้นเยอะก็เอาไปเจียร์โอเวอร์ไซส์เหมือนกับเสื้อเครื่อง..
ลูกสูบ.. อันนี้ต้องตัดสินใจกันหน่อยละครับ ถ้าเป็นเสื้อโปโลเดี่ยว ขอแค่ 85.5 มม.(1585cc.) ของแสตนดาร์ดก็พอครับ ของใหม่ราคาไม่แพงนัก หกพันก็อยู่แล้วครับ..
แต่ถ้าเป็นเสื้อสองโปโล พันหกยังไม่พอ ก็คงต้องเลือก 87 มม.(1641cc.) ขนาดนี้ไม่ต้องคว้านเสื้อครับ ใช้ได้เลย แต่ถ้าเป็น 88 มม.(1679cc.) แบบสลิปอิน ไม่แนะนำครับ เนื้อไลน์เนอร์มันบางมากครับ ผมเคยใช้อยู่ อุณหภูมิน้ำมันเครื่องจะร้อนมากเลยครับ แต่จริง ๆ แล้ว มันก็ไม่เคยพังซะที อยู่กับเครื่องคันเก่าที่ขายไป ใช้ไปเป็นสิบปีแล้ว เจ้าของใหม่ก็ยังเห็นเค้าใช้ได้ดีอยู่ ไม่มีปัญหาอะไรครับ..
ใหญ่ขึ้นไปอีกหน่อย ก็ต้องคว้านเสื้อและฝาสูบหน่อยละครับ มีให้เลือกตั้งแต่ 90.5 มม.(1776cc.) 92 มม.(1835cc.) และ 94 มม.(1915cc.) อยากแนะนำให้เล่นไม่เกิน 92 พอแล้วครับ จริงๆแล้วฟันธงที่ 90.5 ดีกว่าครับ ไลเนอร์หนาดี เย็นกว่า และทนกว่าแน่ ๆ ส่วนราคาสูงกว่าเดิม ๆ แน่ครับ หมื่นกลาง ๆ เตรียมไว้ได้เลยครับ..
เสื้อเครื่องพันสามใส่ลูกพันหกต้องคว้านนะครับ เอาฝามาคว้านด้วยกันทีเดียว แต่ถ้าเป็นเสื้อพันห้าไม่ต้องครับ ใช้ได้เลยครับ..
อ้อ..เครื่อง พันสาม อย่าลืมหาฟลายวีลรุ่นใหม่มาด้วยนะครับ 200 มม.พร้อมจานกด สปริงหวีธรรมดาก็พอ ไม่ได้ไปแข่งกับใคร เบาเท้าดีด้วยครับ ..
ส่วนข้อเหวี่ยง ก็อยากให้ถ่วงข้อเหวี่ยงซะหน่อยนะครับ เอาฟลายวีลกับจานกด ประกอบเข้าไปด้วยกันเลย อายุเครื่องจะได้ทน ๆ หน่อยครับ..
ก้านสูบเดิม ๆ ใช้ได้ครับ แต่เปลี่ยนนัตใหม่ซะหน่อย ของเดิมโยนทิ้งไปซะ ไม่รู้ว่าใช้มานานแค่ไหนแล้ว..
ส่วนฝาสูบ จะเป็นพอร์ทเดี่ยวหรือพอร์ทคู่ ก็ใช้ได้ครับ เปลี่ยนบ่า เปลี่ยนไกด์ซะหน่อย วาล์วไอดีเอาของพันหกมาใช้ก็ได้ ขนาด 35-32 มม. ถ้าเงินเหลือ เล่นของแต่ง 40-35.5 มม. ก็ได้ครับ แล้วแต่งบประมาณ..
ขยายพอร์ทไอดี ไอเสียซะหน่อย ยังไงก็ต้องดีกว่าเดิมแน่นอน แบบพอร์ทกลมก็พอ เอาให้สวย ๆ และเท่า ๆ กันนะครับ ห้องเผาใหม้ตกแต่งให้สวย ๆ เหลี่ยมมุม เจียร์ออกด้วยนะครับ..
แคมชาร์ฟ ใช้เดิม ๆ ได้ครับ แต่ถ้าอยากแรงนิด ๆ ขอเลือก Engle W100 หรือ Scat C25
ก็พอครับ อย่าเลือกดุกว่านั้น เราทำแบบพอเพียงครับ เดี๋ยวอย่างอื่นรับไม่ไหว ต้องเปลี่ยนเพิ่มบานปลายเข้าไปใหญ่ครับ..
สปริงวาล์วเดิมใช้ได้ครับ เราใช้งานประจำวัน ใช้รอบเครื่องสัก 5500 รอบ ก็พอแล้ว จะได้อยู่กัน นาน ๆ ทน ๆ หาสภาพสวย ๆ หน่อย แต่ถ้ามีตังค์เหลือละก็ หาของแต่ง เอาแค่สปริงชั้นเดียวก็พอครับ แต่ถ้าไม่ได้ใส่ แคมชาร์ฟองศาสูงไม่จำเป็นครับ เสียเงินโดยเปล่าประโยชน์ครับ..แกนร็อคเคอร์ชาร์ฟ กับ ตัวตั้งวาล์วแบบลูกปืน หมวกวาล์ว หามาใส่หน่อยนะครับ บอกไว้ในตอนที่แล้วครับ อย่าลืม..
ลูกกระทุ้งเดิม ๆ หาของแท้ ๆนะครับ สวย ๆ ไม่มีตามด ใช้ได้ครับ ใช้กับตะเกียบเดิม ๆ ได้ครับ..
อย่าลืมปั้มน้ำมันเครื่องใหญ่นะครับ ตัวนี้สำคัญ ต้องหามาให้ได้ครับ..
หาตัวกันน้ำมันเครื่องสาดมาใส่ซะหน่อย แผ่นละพันกว่าบาทเท่านั้น น้ำมันเครื่องจะได้ไหลกลับก้นแคร้งได้เร็ว ๆ ไม่ขาดตอน เมื่อเจอกับปั้มใหญ่ ๆ แต่ถ้าเงินเหลือ จะใส่ออยล์ซั้มพ์เลยก็ได้ครับ..
ชุดไฟอมตะนิรันดร์กาลอย่าง Bosch 009 กับ Bosch blue coil คุณภาพเหนือราคาครับ..
คาร์บูเรตเตอร์ ขอแค่เพียง ลิ้นเดี่ยวสองตัวก็พอครับ ราคามือสองไม่แรงด้วย หมื่นกลางๆถึงหมื่นปลาย ๆ หาพวก Kadron หรือ Weber 34 ICT กำลังสวย ที่สำคัญ Kadron มีท่อไอดีพอร์ทเดี่ยวให้เล่นด้วย แค่นี้ก็หวือหวาพอควรแล้วครับ..
เฮดเดอร์บอกไปเมื่อตอนก่อนแล้วนะครับ 1 3/8 นิ้วกำลังดีครับ..
อ้อ.. อย่าลืมหากล่องดักไอ มาใส่ซะหน่อย น้ำมันเครื่องจะได้ไม่สาดเต็มห้องเครื่องเวลาออกกำลังกาย ตัวนี้ถ้ามีฝีมือทำเองก็ได้ครับ หรือซื้อสำเร็จรูปก็ไม่กี่ตังค์เองครับ..
เครื่องตัวนี้ทำกำลังอัดไว้สัก 7.0-7.5 : 1 ก็พอครับ สภาพทุกอย่างสมบูรณ์ดี เหลือๆครับ..
แตกต่างกันกับเครื่องเดิมพันหก อย่างสิ้นเชิง ถ้าเอาไปเทียบกับพันสามละก็ เหมือนหนังคนละม้วนเลยครับ ทำมาใหม่เนี่ย น่าจะมีม้าสมบูรณ์ ๆ อยู่สัก 60-65 ตัว ในกรณีที่เป็นเครื่องโปโลเดียว พอร์ทเดี่ยว วาล์วเดิม แคมเดิมลูกพันหก สองคาร์บูอ่ะครับ แต่ถ้าเป็นเครื่องสองโปโล มีแคมองศาสูง ฝาพอร์ทคู่ วาล์วใหญ่ ลูกเก้าสิบจุดห้า น่าจะมีม้าเยอรมันอยู่แถว ๆ 80 ตัวครับ..
เป็นอย่างไรบ้างครับ เครื่องในสเต็ปนี้ ว่าก็ว่า ถ้ายิ่งทำในช่วงที่เรากำลังคิดจะโอเวอร์ฮอลล์เครื่องอยู่แล้วละก็ จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมอีกไม่มากนัก ค่าทำบ่าวาล์ว เจียร์บ่า เปลี่ยนวาล์ว ค่าชาร์ฟ ค่าปะเก็น และค่าโรงกลึงอื่น ๆ เวลาผ่าเครื่อง ค่าใช้จ่ายพวกนี้จะต้องมีอยู่แล้วครับ..
จะมีเพิ่มเติมก็เป็นพวก เสริมความทนทานและสมรรถนะ เช่น ลูกสูบใหญ่ ต้องตัดสินใจเอาเองครับ ถ้าไม่ต้องการแรงมากนัก เอาสแตนดาร์ดก็พอ ใช้ของเดิมเปลี่ยนแหวนเอา หรือของใหม่ทั้งชุดไม่เกินหกพัน อยากเล่นของใหญ่ (90.5 มม.) ก็แพงหน่อย..
แคมชาร์ฟองศาสูง(อย่าให้เกิน W100 นะครับ ) ใหม่ ๆ ตกที่ประมาณ หกพันครับ..
ท่อไอเสียกับชุดไฟ ถ้ามีอยู่แล้ว ก็สบายกระเป๋าไป แต่ถ้าไม่มี ของใหม่ ๆ ทั้งสองอย่างรวมกัน อยู่ที่ประมาณหมื่นนึงครับ..
ปั้มน้ำมันเครื่องใหญ่อยู่ที่สามพันบาทครับ..
ค่าคาร์บูเรตเตอร์คู่ มือสองราคาป้วนเปี้ยนอยู่ที่ หมื่นห้า ถึง สองหมื่นครับ คาร์บูเนี่ย มีตังค์ค่อยใส่ก็ได้ครับ ไม่ต้องรีบร้อนครับ..
ค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมพวกค่าแต่งฝาสูบ ค่าบาลานซ์ข้อเหวี่ยง ไม่น่าจะเกิน ห้าพันบาท (อันนี้นอกเหนือจากค่าโอเวอร์ฮอลล์ฝาสูบ และค่าเจียร์ข้อโอเวอร์ไซส์นะครับ พวกนี้จะต้องทำอยู่แล้วเวลาผ่าเครื่อง)..
สรุปว่าค่าใช้จ่าย ค่ะอไหล่ที่จะมีเพิ่มขึ้นจากค่าโอเวอร์ฮอลล์ธรรมดา น่าจะอยู่ที่ประมาณ สามหมื่นถึงห้าหมื่นครับ..
ดูเหมือนจะเยอะนะครับ แต่ถ้าวางแผนด้านการเงินให้ดี ๆ และสะสมของแต่งไปเรื่อย ๆ ซื้ออะไหล่เก็บไว้เดือนละอย่างสองอย่าง จนกว่าของจะครบ แล้วค่อยทำทีเดียว ใช้เงินก้อนมากกว่าค่าโอเวอร์ฮอลล์ทั่วไปไม่น่าเกินหมื่นห้าหรอกครับ..
ทำเสร็จออกมาแล้ว ถ้าสมบูรณืดี เครื่องตัวนี้ น่าจะวิ่ง 1/4 ไมล์ได้ ในพิกัด 17-19 วินาที ตีนปลายมีไม่ต่ำกว่า 150 กม./ชม. ขึ้นอยู่กับขนาดเครื่อง น้ำหนักรถ เกียร์ที่ใช้ และการฝีมือการเซ็ทเครื่องครับ..
แต่ที่แน่ ๆ วิ่งดีกว่าพันหกเดิม ๆ อีกทั้งทำในสเต็ปนี้ ได้ทั้งสมรรถนะ และความทนทาน กว่าเครื่องเดิม ๆ แน่นอนครับ..
ใช้เครื่องให้เป็น รู้จักประเมินคู่ต่อสู้ให้ดี ๆ เวลาออกกำลังกาย อย่าไปแบกน้ำหนักข้ามรุ่นมากนัก เครื่องตัวนี้อายุยืนแน่ ๆ ครับ..
ขอให้มีความสุขกับเครื่องตัวใหม่ครับ...
----------------------------------------------------------------------------------------------------------
Part 1 | Part 2 | Part 3 | Part 4 | Part 5 | Part 6 | Part 7 | Part 8 | Part 9
----------------------------------------------------------------------------------------------------------